วันจันทร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เที่ยวผจญภัย
ตำนาน ภูกระดึง

ลุงจิ๊บ...เรื่อง
นอกจาก "นายพราน" ตามตำนานเล่าขานที่ตามกระทิงขึ้นภูกระดึงแล้ว หนึ่งในบุคคลกลุ่มแรก ๆ ที่ได้ขึ้นไปสำรวจภูกระดึง(หรือน่าจะเป็นชาวต่างชาติคนแรกด้วยซ้ำ) คือ Dr. A. F. G. Kerr ที่ได้ขึ้นไปสำรวจ และเก็บตัวอย่างพรรณไม้แห้งบนภูกระดึง ในอดีต ซึ่งคงน่าสนใจไม่น้อยเพราะ พืชพันธุ์บนภูมีความแตกต่างจากต้นไม้บนพื้นราบรอบข้างอย่างชัดเจน เพราะเป็นพืชประเภทสน ที่อยู่ในเขตอบอุ่นหรือเมืองหนาว
การสำรวจคราวนั้นจะเป็นเมื่อปีพ.ศ.ใดไม่ทราบชัด แต่ในหนังสือ "ป่าไม้และพรรณพฤกษชาติ ภูกระดึง" ของคุณ ธวัชชัย สันติสุข ผู้อำนวยการส่วนพฤกษศาตร์ป่าไม้ นั้นระบุว่าน่าจะเป็นสมัยก่อนหน้าปี 2463 ก่อนหน้าการสร้างพระพุทธเมตตาบนภูกระดึง เส้นทางที่ใช้ก็ขึ้นจากบริเวณบ้านศรีฐาน

อันที่จริง Dr. A. F. G. Kerr เดิมทีเป็นนายแพทย์ชาวไอร์แลนด์ ที่รับราชการอยู่กับรัฐบาลไทย ต่อมาได้หันความสนใจมาสู่เรื่องพันธุ์พืชในประเทศไทย และหันมารับราชการเป็นนักพฤกษศาตร์ จนเป็นหัวหน้ากองตรวจพันธุ์รุกขชาติ กระทรวงพาณิชย์ (ในสมัยนั้นสังกัดกระทรวงพาณิชย์)
จากการค้นคว้าเพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ต ได้พบว่า คุณหมอท่านนี้ ยังเป็นนักพฤกษศาตร์คนสำคัญของประเทศไทย และมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ได้เก็บตัวอย่างพืชพันธุ์กว่า 2 หมื่นชนิดในไทย ในระหว่างการทำงานในช่วงปี 1902- 1932
Dr. A. F. G. Kerr
คุณหมอ Kerr หนึ่งในชาวต่างชาติผู้พิชิตภูกระดึงเป็นพวกแรก ภาพจากเว็บไซต์ภาคภาษาอังกฤษของกรมป่าไม้
ตัวอย่างความสำคัญของคุณหมอจะเห็นได้จาก พันธุ์ไม้ตระกูลบัวผุด (Raffiesia) ที่พบในประเทศไทยได้รับการตั้งชื่อเป็นพันธุ์ของโลก ในปี พ.ศ.2527 ว่า Raffiesia Kerrti Meijer โดย Dr.M.Meijer จากมหาวิทยาลัย Kentucky ประเทศอเมริกา โดยตั้งชื่อพฤกษศาสตร์สากลเพื่อเป็นเกียรติแก่ Dr.A.F.G.Kerr นายแพทย์ไอริช ผู้สำรวจพันธุ์ไม้ชนิดนี้เป็นครั้งแรกในเมืองไทยเมื่อปี พ.ศ. 2472